top of page

ทำความรู้จักกับ"ล้อแม็ก"

อัปเดตเมื่อ 7 พ.ย. 2561

ล้อแม็ก คือ คำที่เรียกติดปากของคนไทย ซึ่งมาจากชื่อเต็มว่า ล้อแม็กนิเซียม (Magnisium) ซึ่งถูกนำมาใช้ในการแข่งขันรถยนต์ในสนามแข่งรถ ซึ่งล้อแม็กแท้ๆนั้นจะมีราคาสูงมาก แต่ความทนทานไม่มาก ทำให้เกิดการทำล้อทดแทน ล้อแม็กแท้ๆขึ้นมา จากวัสดุที่หลากหลาย และวิธีการทำหลายรูปแบบ จึงนิยมเรียกรวมๆกันว่า ล้อแม็ก ซึ่งมีกีแบบอย่างไร วันนีไปทำความรู้จักกัน

การรู้ว่า ล้อแม็กมีกี่แบบ เป็นจุดแรกเริ่มสำหรับคนแต่งรถ เพราะความรู้พื้นฐานนี้ จะช่วยให้ไม่ใช้งานผิดประเภท และยังทำให้รถของคุณสวยงามมีคุณภาพตรงการใช้งาน ล้อแม็กแต่ละประเภทนั้น มันก็มีลักษณะเด่นแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นในด้านการผลิต วัสดุหลายประเภท และ ดีไซน์หลายอย่าง ซึ่งเราสามารถแยกแบบที่นิยมกันได้ดังนี้

ประเภทของล้อแม็กซ์ แยกตามวัสดุที่ผลิต


ล้อแม็กแบบกระทะ

1. ล้อแม็กเหล็ก หรือ ล้อแม็กกะทะ

ล้อเหล็ก หรือ ล้อกระทะ (Steel Wheel) ที่เรียกติดปากกัน ก็เป็นล้อสุด Basic ซึ่งผลิต “ปั๊มจากเหล็ก” เท่านั้นเอง จะพบกันในรถสมัยเก่า แล้วก็หายไปพักใหญ่ๆ จนในปัจจุบัน ก็นำกลับมาใช้ในรถยนต์รุ่นราคาถูกอีกครั้ง เพื่อลดต้นทุนในการผลิต จะได้ขายราคาถูกลงได้ ตามที่สังเกตอย่าง รถที่จำหน่ายใน “อเมริกา” (ได้สังเกตจากงาน Sema Show ที่ Las Vegas, USA) บางทีเป็นรถหรูด้วยนะ เช่น LEXUS, CAMRY รถยุโรปก็ด้วย จะมีรุ่นถูกที่เป็นล้อเหล็กพร้อมฝาครอบให้เลือกด้วย ที่เน้นใช้งาน เรียบง่าย ไม่แพง สำหรับข้อดีและข้อเสียของ “ล้อเหล็ก” มีดังนี้ครับ…

ข้อดี

· ทนทาน : ผลิตจากเหล็ก ความทนทานเป็นเยี่ยม กระแทกกระทั้นอะไรก็ไม่ค่อยจะเป็นอะไรนัก ทนต่อการกัดกร่อน

· ราคาถูก : การผลิตไม่มีเทคโนโลยีอะไรที่ซับซ้อน เข้าเครื่องรีดขอบ ตอกลายหน้าล้อ ออกมาเป็นล้อแล้ว วัสดุก็ไม่แพง หาได้ทั่วไป ราคาเลยถูกกว่าล้ออัลลอยที่ต้องมีเทคโนโลยีการผลิตที่ซับซ้อนกว่า…

· ไม่หาย (ง่ายนัก) : อันนี้แถมให้ขำๆ ถ้าล้อสวยๆ จอดก็ต้องระวังๆ หน่อย โอกาสหายก็มีน้อย

ข้อเสีย

· ไม่ค่อยสวยงาม : ด้วยความที่มันปั๊มขึ้นรูปจากแผ่นเหล็กธรรมดา ดังนั้น ลวดลายมันถึงไม่มีอะไรที่ “อลังการ” เจาะเป็นรูๆ Pattern ง่ายๆ ก็พอแล้ว

· น้ำหนักมาก : เหล็กน้ำหนักมันย่อมมากกว่าวัสดุพวก “อัลลอย” แถมปั๊มมาหน้าตาตันๆ ด้วยความที่น้ำหนักมาก ผลเสียแน่ๆ เลย คือ “แรงต้านการหมุนเยอะ” “บั่นทอนสมรรถนะของรถ” อัตราเร่งแย่ลง กินน้ำมันมากขึ้น อีกประการ “น้ำหนักใต้สปริงมาก” ทำให้เกิดการสะเทือนเพิ่มขึ้น ช่วงล่างตอบสนองได้ช้าลง

ล้อแม็กนีเซี่ยม

2. ล้อแม็กแท้ หรือ ล้อแม็กนีเซียมอัลลอย (Magnesium Alloy Wheel)

“ล้อแม็ก” เป็นคำที่คนนิยมเรียกล้อที่ไม่ได้ทำจาก “เหล็ก” และเรียกติดปากมาจนทุกวันนี้ คำว่า “แม็ก” มาจากคำว่า “แม็กนีเซียม” (Magnesium) ผสมกับ “อัลลอย” (Alloy) เรียกกันว่า Magnesium Alloy Wheel และย่อด้วยคำว่า Mag Wheel ไม่ใช่ Max Wheel ที่บ้านเราชอบใช้กันมาผิดๆ แต่ก็ไม่ว่ากัน เพราะเป็นการ “ทับศัพท์” ซึ่งในสมัยก่อน ช่วงปี 1960 มีการผลิตล้อแม็กนีเซียมสำหรับ “การแข่งขัน” ขึ้นมา และสำหรับ Super Car รวมถึงเป็นล้อ After Market มักจะผลิตจากยุโรป (ญี่ปุ่นก็มีครับ แต่น้อย) สำหรับข้อดีและข้อเสียของล้อแม็กนีเซียม มีดังนี้

ข้อดี

· น้ำหนักเบา : ล้อแม็กนีเซียมอัลลอย มีน้ำหนักเบา สามารถผลิตล้อหน้ากว้างๆ สำหรับใส่ยางใหญ่ๆ ได้ โดยที่น้ำหนักยังเบากว่าล้อเหล็กผ่าขยายหน้ากว้าง ซึ่งล้อที่มีน้ำหนักเบา ก็จะทำให้ “แรงต้านการหมุนน้อย” และ “น้ำหนักใต้สปริงต่ำ” ทำให้รถเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น เบรกดีขึ้น และในปัจจุบัน ล้อแม็กนีเซียมก็ยังถูกใช้ในการแข่งขันระดับโลก เช่น F1 ก็ด้วยน้ำหนักที่เบามากๆ ของมันนี่เอง…

· ได้ความเทพ : สำหรับล้อแม็กนีเซียมแท้ๆ สมัยก่อนนั้นมีราคาแพงมาก เรียกว่ามีใช้กันในระดับรถแข่งระดับโลก เช่น F1 หรือ Super Car สุดแพงต่างๆ หรือเป็นล้อ After Market สำหรับรถแต่งระดับ Hi-end ที่เน้นสมรรถนะการขับขี่ เพราะฉะนั้น “ความเทพ” และโดยเฉพาะล้อ Retro หรือ Classic ที่เป็นแม็กนีเซียม จึงกลายเป็นสิ่งที่ “นักสะสม” ต้องการ

ข้อเสีย

· ราคาแพง : ใช้ต้นทุนค่อนข้างสูงมาก ทำครั้งละไม่กี่วง และในปัจจุบัน ราคาก็ยังสูงอยู่ ตามประโยชน์ในการใช้งานที่เน้นในด้านการแข่งขันครับ ก็คงไม่จำเป็นสำหรับการเอามาใช้กับรถบ้านวิ่งถนนทั่วไป…

· กร่อน เสียหายเร็ว : ล้อแม็กนีเซียมอัลลอย มันจะโดนกัดกร่อนและเสียหายได้ง่ายกว่าล้อชนิดอื่นๆ ด้วยคุณลักษณะของแม็กนีเซียม พูดง่ายๆ คือ “เปราะ” นั่นเอง จะไปว่าไม่ดีก็คงไม่ได้นัก เนื่องจากผลิตมาใช้ในสนามแข่งที่ “ทางเรียบ” ไม่ได้ทำมาวิ่งถนนปุปะ พอคนไปเอามาวิ่งถนนไม่เรียบ ล้อกลับเสียหายได้ง่าย บางทีเก็บนานๆ มันก็เสื่อมแล้ว ใครมีล้อแม็กนีเซียมรุ่นเก่าๆ เก็บไว้ จะพบว่าเนื้อล้อแม็กจะพรุนๆ สากๆ นั่นเป็นเพราะมันหมดอายุ ใส่รถจอดโชว์ล่ะก็ได้ครับ แต่ถ้าใส่วิ่งถนนไม่เรียบ สะดุดทีเดียวก็แตกทั้งวงละครับ แต่ล้อแม็กนีเซียมสมัยนี้ ก็มีการพัฒนาให้ทนทานมากยิ่งขึ้น แต่ก็เน้นวิ่งถนนเรียบเป็นหลักอยู่ดี


ล้อแม็กอลูมินั่มอัลลอย

3. ล้อแม็กอลูมินั่มอัลลอย (Aluminum Alloy Wheel)

อลูมินั่ม อัลลอย (Aluminum Alloy) นำมาใช้แทนแม็กนีเซียม ด้วยคุณสมบัติ “ทนทาน น้ำหนักเบา” แม้จะเบาสู้แม็กนีเซียมไม่ได้ แต่ก็อยู่ในระดับที่รับได้ มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน มีราคาถูกลง และคุณภาพ รวมถึงความทนทาน ความสวยงามที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย จนเป็นล้อ OEM ที่ใส่กับรถแทบทุกคันไปแล้ว แม้แต่รถกระบะ รถ SUV กระทั่งรถบรรทุกสมัยใหม่ ก็ใช้ล้ออัลลอยกันส่วนใหญ่แล้ว นับว่าเป็นการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องจริงๆ ก็ขอข้ามข้อดีและข้อเสียไปแล้วกัน ลองมาดูกันว่า ล้ออัลลอยทั้งหลายมีกี่แบบ และมีวิธีการผลิตอย่างไร


ล้อแม็กแบบชิ้นเดียว

3.1 ล้อแม็กแบบชิ้นเดียว

จัดเป็นล้อแม็กแบบพื้นฐาน ที่ผ่านการขึ้นรูปแบบชิ้นเดียวทั้งวงจริงๆ ไม่มีรอยต่อประกบใดๆ ทั้งสิ้น เป็นล้อแบบที่ราคาไม่แพง (ขึ้นอยู่กับการผลิต) และมีความทนทานสูงกว่าล้อสมัยก่อนเยอะ (ก็อยู่ที่คุณภาพการผลิตด้วย) การรั่วซึมน้อย แต่ข้อเสียก็มี คือ “น้ำหนักค่อนข้างเยอะหน่อย” ก็ไม่อยากจะนับว่าเป็นข้อเสียนัก เพราะปัจจุบัน เทคโนโลยีการผลิตทันสมัย สามารถทำให้ล้อชิ้นเดียวมีน้ำหนักเบาได้

ล้อแม็กแบบ 2 ชิ้น

3.2 ล้อแม็กแบบ 2 ชิ้น และ ล้อแม็กแบบ 3 ชิ้น

ล้อแม็กแบบ 2 ชิ้น เป็นล้อแบบที่มีส่วนประกอบ 2 อย่าง คือ “ลายหน้าล้อ” (Face) แยกกับส่วนของ “ขอบ” (Rim) ใช้การยึดด้วยน็อต ขอบเงาๆ มีน็อตขันยึดระหว่างขอบกับลายหน้าล้อ หรือบางรุ่นก็ใช้หมุด (Rivet) ในการประกอบ แต่เจอบางรุ่นใช้การเชื่อมไปเลยก็มี แต่ส่วนใหญ่จะใช้น็อตหรือหมุดยึดเพราะ “สวย” กว่า ก็แล้วแต่ดีไซน์ ล้อ 2 ชิ้น จะมีเพียงสองส่วนที่ผมบอกมาเท่านั้น ให้ดูที่ขอบล้อ (ด้านหน้ากว้าง) จะต้องเป็นการรีดขึ้นรูปแบบชิ้นเดียวกัน

📷 ล้อแม็กแบบ 3 ชิ้น ก็ลักษณะเหมือนกัน แต่ขอบล้อจะเป็น “2 ชิ้น เชื่อมประกบ” จะเห็นรอยเชื่อมอย่างชัดเจน นั่นคือข้อแตกต่างระหว่างล้อ 2 ชิ้น และ 3 ชิ้น เรามาดูข้อดีและข้อเสียกันครับ

ข้อดี

· น้ำหนักเบา : ด้วยวัสดุพวกอลูมิเนียมที่ใช้ทำขอบ จะลดน้ำหนักไปกว่าล้อชิ้นเดียวได้พอสมควร…

· สวยงาม : เพราะมีขอบเงา และสามารถรีดเล่นระดับขอบได้ เลยดูมี Detail มากกว่า ทำให้เป็นที่นิยมของคนชอบล้อ “ออฟลึก” ขอบยื่นๆ ถูกใจหลายคน

· ทำ Offset ได้หลากหลาย : เราใช้ตัว Face เหมือนเดิม แต่ไปเปลี่ยนที่ขอบล้อเอา จะกว้างจะยื่นจะหุบเท่าไรก็สร้างเอา ซึ่งล้อบางยี่ห้อก็ “สามารถสั่งออฟเซ็ตและหน้ากว้างแบบพิเศษได้” เพื่อเป็น Custom Made สำหรับรถแต่ละคัน

ข้อเสีย

· ราคาแพง : มันแพงกว่าล้อชิ้นเดียว เพราะการผลิตมีหลายขั้นตอนกว่า

เปราะมากกว่า : ด้วยชิ้นส่วนที่ประกอบกัน ความแข็งแรงจึงสู้แบบชิ้นเดียวไม่ได้ แต่ถ้าล้อคุณภาพดีก็แข็งแรงได้เหมือนกันครับ อยู่ที่เนื้อวัสดุและวิธีการผลิต

📷

ล้อชิ้นเดียว แต่หน้าตาเหมือนสองชิ้น

ตามนั้น บางทีนึกว่า 2 ชิ้น มีมีหมุดอะไรชุดใหญ่เลยนะ ขอบเงาด้วย แต่หมุดนั้นเอาไว้ “ใส่หลอก” และขอบเงาก็อาศัยการ “ปัดเงา” ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงดูเนียนมากๆ มองเผินๆ แทบไม่รู้เลย ตอนนี้นิยมทำกันมาก สังเกตง่ายๆ ครับ ล้อพวกนี้พอหงายดูด้านหลัง มันจะไม่มีรอยต่อระหว่างลายหน้าล้อกับขอบล้อ จะเป็นชิ้นเดียวไปเลย วัสดุก็เหมือนกันทั้งวงครับ


ดู 945 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

ความในใจที่มีต่อวิชา EGME405

ความรู้สึกที่ได้เรียนวิชา EGME 405 ผมรู้สึกว่านี่เป็นเพียงไม่กี่วิชาที่ผมสามารถนำความรู้ในวิชาที่เรียนไปประกอบธุรกิจเสริมได้...

Comments


bottom of page